วันพฤหัสบดีที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2553

ประวัตินายกรัฐมนตรีคนแรกของไทย

 

พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ชื่อเดิมว่า " ก้อน หุตะสิงห์" เกิดที่จังหวัดพระนคร เมื่อวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๔๒๗ เวลา ๑๑.๒๐ น.เป็นบุตรของนายฮวดกับนางแก้ว หุตะสิงห์ สมรสกับคุณหญิงมโนปกรณ์นิติธาดา (นิตย์ สามเสน) เริ่มการศึกษาชั้นต้นที่วัดราชบูรณะ (วัดเลียบ) จากนั้นเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย โรงเรียนอัสสัมชัญวิทยาลัยและโรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรมตามลำดับ จนสำเร็จเป็นเนติบัณฑิตสยาม
  ต่อมาได้ทุนเล่าเรียนหลวงไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ จนสำเร็จเนติบัณฑิตอังกฤษจาก The Middle Temple หลังจากสำเร็จเนติบัณฑิตสยามได้เข้ารับราชการที่กระทรวงยุติธรรมและได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ หลวงประดิษฐ์พิจารณ์การ จนกระทั่งได้เป็นสมุหพระนิติศาสตร์และพระยามโนปกรณ์นิติธาดาในที่สุด
  ในปี พ.ศ.๒๔๖๑ ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัย จากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาราชการในพระองค์ เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยในพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ.๒๔๗๕ เมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๕ ได้มีการประชุมคณะราษฏรครั้งแรกเมื่อวันอังคารที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๔๗๕ เวลา ๑๔.๐๐ น. ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม และที่ประชุมได้มีมติแต่งตั้งพระยามโนปกรณ์นิติธาดาเป็นประธานคณะกรรมการราษฎร ซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดในการบริหารเทียบเท่ากับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีใน ปัจจุบัน
  พระยามโนปกรณ์นิติธาดาได้ดำรงตำแหน่ง ประธานคณะกรรมการราษฎรอยู่จนถึงวันที่ ๙ ธันวาคม ๒๔๓๕ จึงได้ลาออก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวร เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ และพระยามโนปกรณ์นิติธาดาได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญอีกครั้งหนึ่ง
  ต่อมาเมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๒๔๗๖ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ได้กราบบังคมทูล พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ขอให้ทรงประกาศพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร และตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่โดยมีพระยามโนปกรณ์นิติธาดาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง
  เมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๔๗๖ พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาได้เข้ายึดอำนาจจากรัฐบาล พระยามโนปกรณ์นิติธาดาได้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และย้ายไปพำนักอยู่ที่ปีนังเป็นเวลา ๑๖ ปีเศษ และได้ถึงแก่อสัญกรรม ณ ที่นั้น เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๔๙๑ รวมอายุได้ ๖๔ ปี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น